|
|
|
|
กำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ อยู่หรือเปล่า? ถ้าใช่ ต้องห้ามพลาดไปเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์แห่งใหม่ของบ้านเรา นั่นคือ อุทยานราชภักดิ์ ที่ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ เรียกว่ากำลังเป็นที่สนใจของประชาชนชาวไทยอย่างล้นหลาม
วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ จะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ อุทยานราชภักดิ์ กันสักนิด เนื่องจากที่นี่เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เกิดจากการร่วมกันบริจาคสมทบทุนการก่อสร้างโดยพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศ โดยได้รวบรวม 10 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับอุทยานฯ แห่งนี้มาฝากกัน น่าสนใจและควรรู้ไว้ ถ้าไม่รู้เดี๋ยวจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่องนะ!
พร้อมแล้ว...ตามมาชมกันเลย
1. กองทัพบกเป็นเจ้าภาพหลัก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กองทัพบก จัดสร้าง "พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม" พร้อมจัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อว่า อุทยานราชภักดิ์" ซึ่งเป็นอุทยานที่สร้างขึ้นด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ ซึ่งทุกพระองค์ล้วนทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ |
|
2. ภายในอุทยานฯ มีอะไรบ้าง?
ภายในอุทยานแห่งนี้ ประดิษฐานพระมหากษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ ได้แก่
- พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
- สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
- สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
3. ตั้งอยู่ที่หัวหิน
กองทัพบกได้จัดสร้างอุทยานราชภักดิ์บริเวณพื้นที่กองทัพบกใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 222 ไร่ โดยพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ในอิริยาบถทรงยืน ความสูง 13.90 เมตร หล่อด้วยโลหะสำริด มีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์
4. ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก
ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่ที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยามทั้ง 7 พระองค์ โดยพิจารณาเลือกพระมหากษัตริย์แต่ละยุคสมัย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ชึ่งพระนามแต่ละพระองค์เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ใช้พื้นที่ก่อสร้างบริเวณนี้ประมาณ 5 ไร่ โดยรูปแบบของพระบรมราชานุสาวรีย์ จะจัดสร้างในลักษณะพระอิริยาบถทรงยืน ความสูงเฉลี่ยไม่เกิน 13.9 เมตร หล่อด้วยโลหะสำริดนอก |
|
5. มีลานอเนกประสงค์ขนาดใหญ่
ส่วนที่ 2 เป็นลานอเนกประสงค์ มีเนื้อที่ประมาณ 91 ไร่ ใช้สำหรับกระทำพิธีที่สำคัญของกองทัพ และรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ
6. อาคารพิพิธภัณฑ์
ส่วนที่ 3 เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ หรือห้องจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ โดยการค้นคว้า รวบรวม และจัดทำพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญของบูรพกษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยจะดำเนินการจัดสร้างบริเวณด้านล่างของฐานพระบรมราชานุสาวรีย์
พื้นที่ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 126 ไร่ จะออกแบบตกแต่ง ปรับสภาพภูมิทัศน์โดยรอบให้งดงาม และมีการจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวก |
|
7. ร่วมกันสมทบทุนทั่วประเทศ
กองทัพบกได้เชิญชวนทุกภาคส่วน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ (โดยเป็นเงินบริจาค จากประชาชน และภาคเอกชนทั้งสิ้น) เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
และเป็นการร่วมกันประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่สร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ โดยทุกพระองค์ทรงเสียสละ นำพาความเจริญและความเป็นปึกแผ่นมาสู่เราทั้งผอง
8. แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่
อุทยานราชภักดิ์ยังจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยใช้งบประมาณในการจัดสร้างอนุสาวรีย์พระองค์ละ 45 ล้านบาท รวมการจัดสร้างลาน แท่นฐาน และปรับสร้างภูมิทัศน์ และการจัดนิทรรศการห้องพระราชประวัติ รวมทั้งหมดกว่า 700 ล้านบาท
|
|
9. ความคืบหน้าล่าสุด
วันเสาร์ที่ 8 ส.ค. 2558 เวลา 15.00 น. ที่ผ่านมา บริเวณอุทยานฯ ใน อ.หัวหิน ได้มีการทำพิธีอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ของ ร.4 ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่น มีการเจริญพระพุทธมนต์ และการบวงสรวง โดยระหว่างการจัดพิธีตั้งแต่ช่วงเช้า ปรากฏว่าอากาศเป็นใจอย่างมาก อากาศไม่ร้อน ทำให้พิธีดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
โดยในพิธีครั้งต่อไปจะเป็นการทำพิธีอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ของ ร.5 และคาดว่าอุทยานราชภักดิ์จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2558 นี้
10. ประชาชนร่วมสมทบได้ดังนี้
ประชาชนหรือองค์กรทั่วไปร่วมบริจาคสมทบทุน โดยการโอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารทหารไทย สาขา บก.ทบ. ชื่อบัญชี \"กองทุนสวัสดิการกองทัพบก\" บัญชีกระแสรายวัน หมายเลขบัญชี 077-1-07474-7 ทั้งนี้สามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้ รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ กองกิจการพลเรือน สำนักกิจการพลเรือน กรมกิจการพลเรือนทหารบก โทร. 0 2297 7581 - 4 |
|
ที่มาข้อมูลและภาพ : rta.mi.th |
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ |